นโยบาย “ทรัมป์”-เหล็กจีนทะลัก ซ้ำเติมอุตฯเหล็กไทย แนะภาครัฐออกมาตรการดูแล

16 พฤษภาคม 2568
นโยบาย “ทรัมป์”-เหล็กจีนทะลัก ซ้ำเติมอุตฯเหล็กไทย แนะภาครัฐออกมาตรการดูแล

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังคงเผชิญความท้าทายทั้งการทะลักเข้ามาของเหล็กจีน และนโยบาย Trump 2.0 ที่มีการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กเป็น 25%

SCB EIC ประเมินว่าสินค้าเหล็กจากจีนจะยังคงถูกระบายเข้ามายังไทยต่อเนื่องในปี 68 โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าเหล็กปลายน้ำ เช่น เหล็กเคลือบหรือชุบสังกะสี (Galvanized steel) เหล็กทาสี ที่มีสัดส่วนการนำเข้ามาใช้งานมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้งานเหล็กกลางน้ำที่ผลิตในประเทศเพื่อนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กปลายน้ำลดลง รวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าเหล็กปลายน้ำของไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าเหล็กปลายน้ำนำเข้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

โดยสินค้าจากจีนมีความได้เปรียบในด้านการกำหนดราคาขายได้ต่ำ จากปริมาณการผลิตที่มากจนเกิด Economies of Scale ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กของไทย จึงควรหันมาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า หรือปรับตัวไปผลิตสินค้าเหล็กที่สร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากเหล็กก่อสร้าง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมไปถึงสร้าง Supply chain ที่แข็งแกร่งร่วมกับทางลูกค้า และเน้นการให้บริการไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้งานขั้นสุดท้าย (End users) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกระจายแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงด้าน Supply chain

ขณะที่การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กของสหรัฐอเมริกาเป็น 25% จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกเหล็กไทยไม่มาก เนื่องจากสินค้าเหล็กจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาในอัตรา 25% มาตั้งแต่ปี 61 อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากการทะลักเข้ามาของเหล็กนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 61 โดยประเทศเหล่านั้นจะเริ่มถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ส่งผลให้อาจมีการระบายสินค้ามายังไทยแทน ซ้ำเติมผู้ผลิตเหล็กของไทยให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ทำให้ยิ่งซ้ำเติมผู้ผลิตเหล็กของไทยโดยเหล็กที่คาดว่าจะถูกระบายเข้ามามากขึ้นประมาณ 10-15% ทั้งเหล็กราคาถูกจากจีนที่มีผลผลิตล้นตลาด (Overcapacity) และเหล็กที่มีคุณภาพสูงจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าเหล็กปลายน้ำ อาทิ เหล็กชุบหรือเคลือบสังกะสี (Galvanized steel) เหล็กทาสี (Color-coated steel) ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระทบกับความต้องการสินค้าเหล็กกลางน้ำ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน หรือเหล็กม้วนดำ รวมถึงเหล็กแผ่นรีดเย็น เพื่อนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กปลายน้ำ ให้มีการใช้งานที่ลดลง รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเหล็กปลายน้ำของไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าเหล็กปลายน้ำนำเข้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เหล็กไทยยังคงมีโอกาสส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปริมาณการผลิตและการใช้งานเหล็กของสหรัฐฯ ที่ยังไม่สอดคล้องกัน รวมถึงยังขาดแคลนเหล็กบางประเภทที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น เหล็กกล้าความแข็งแรงสูง และเหล็กสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า จึงต้องอาศัยการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศเข้าไปใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง เช่น อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งมีความสามารถในการผลิตสินค้าเหล็กประเภทเดียวกันกับที่ไทยส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกา ทั้งเหล็กทรงแบนประเภทรีดร้อน และรีดเย็น เหล็ก Galvanized รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก เช่น ท่อเหล็ก สปริง ตะปูเกลียว และมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเนื่องจากมีการผลิตเหล็กตั้งแต่เหล็กต้นน้ำ ขณะที่การผลิตเหล็กในไทยเป็นการใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศจีนในสัดส่วนที่สูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เหล็กจากไทยอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of origin) ซึ่งอาจนำมาสู่การถูกดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านกลไกการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยได้

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กจำนวนมากประสบกับภาวะขาดทุน ทั้งกลุ่มผู้ผลิตที่มียอดขายลดลง จากการลดลงของราคาเหล็ก และการลดปริมาณการผลิตเหล็ก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กจากต่างประเทศที่ราคาถูกกว่า รวมถึงยังเผชิญกับภาวะขาดทุนจากต้นทุนสินค้าในสต็อกที่ได้มาในช่วงราคาสูง แต่ต้องจำหน่ายในช่วงราคาปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถบริหารความเสี่ยง และมีความยืดหยุ่นในการปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการจัดหาวัตถุดิบ ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้สามารถจัดหาวัตถุดิบได้ในราคาและปริมาณที่เหมาะสมกับแผนการผลิต และสามารถระบายสต็อกสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาผลประกอบการท่ามกลางความผันผวนของราคาเหล็กได้

ขณะที่ภาครัฐยังจำเป็นต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยควบคู่กันไป เช่น การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีน เพิ่มระดับความเข้มงวดของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) การใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circumvention: AC) กับสินค้าที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงอัตรา AD การกำหนดมาตรฐานสินค้าเหล็กนำเข้าและส่งออก การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้าเหล็กนำเข้าให้ตรงกับรายการสินค้าที่สำแดง การจำกัดการอนุญาตตั้งโรงงานเหล็กแห่งใหม่เพื่อรักษาอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีน ที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับในปี 68 ปริมาณการใช้งานเหล็กของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 16.2 ล้านตัน (+1.7%YOY) ขณะที่ราคาเหล็กโดยเฉลี่ยยังคงมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน 4.8%YOY ปริมาณการใช้งานเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบนในปี 68 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 6.1 ล้านตัน (+2.3%YOY) และ 10.0 ล้านตัน (+1.4%YOY) ตามลำดับ เป็นผลจากปัจจัยหนุนด้านโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว แต่ยังมีปัจจัยกดดันการเติบโตของปริมาณการใช้งานจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศที่คาดว่ายังหดตัว

ขณะที่ราคาเหล็กยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยราคาเหล็กทรงยาว และราคาเหล็กทรงแบน จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 20,900 บาท/ตัน (-3.9%YOY) และ 22,700 บาท/ตัน (-5.6%YOY) ตามลำดับ หรือลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 4.8%YOY ตามแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบการผลิตและราคาพลังงาน ประกอบกับปัจจัยกดดันราคาจากการเข้ามาของเหล็กราคาถูกจากจีนที่มีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะส่งผลให้มีความเข้มงวดกับการตรวจสอบมาตรฐานเหล็กมากขึ้น ทั้งที่ถูกผลิตจากโรงงานในประเทศ และสินค้าเหล็กนำเข้า โดยผู้ผลิตเหล็กของไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตเหล็กที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมเหล็กไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามเทรนด์ของโลกที่มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality โดยประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงประเทศไทยยังมีการกำหนดให้มีการใช้งานเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการก่อสร้างภาครัฐ และความต้องการก่อสร้างอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มขยายตัว เช่น Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวจากสหรัฐอเมริกา และ TREES ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวของไทย เป็นแรงกดดันให้อุตสาหกรรมเหล็กต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในไทยได้มีการเริ่มเตรียมความพร้อมบ้างแล้ว เช่น วัดและบันทึกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในขั้นตอนการผลิต รวมถึงเริ่มมีการจับกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยผู้ผลิตเหล็กที่สามารถปรับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผู้ค้าเหล็กที่สามารถจำหน่ายสินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานในห่วงโซ่อุปทาน จะเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด มีโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในยุโรปที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดเก็บภาษี CBAM

นอกจากนี้ การจัดทำ Thailand Taxonomy Phase II ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคการเงินออกแบบ และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียว จะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตเหล็กที่มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับการปรับตัวเข้าสู่ Carbon neutrality ได้มากขึ้น


แหล่งที่มา : อินโฟเควสท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.